มีคำถามว่า ระหว่างหญิงกับชาย กับภาระที่ต้องแบกรับ ใครมีทุกข์มากกว่ากัน คำตอบจากงานวิจัยมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ(Ohio State University)พบว่า ผู้หญิงมีทุกข์มากกว่า มีความเศร้าโศกเสียใจ โกรธ เครียด มากกว่าผู้ชายถึงร้อยละ๓๐ มีความสุขน้อยกว่าผู้ชายร้อยละ ๓.๓ นอกจากนั้นยังเป็นโรคซึมเศร้า(major clinical depression)มากกว่าผู้ชายถึง๒เท่า เหตุผลนั้นนอกจากเรื่องความแตกต่างทางชีววิทยาแล้ว เชื่อว่าภาระและความคาดหวังของสังคมที่ผู้หญิงต้องแบกรับดูแลครอบครัวเป็นหลักในฐานะของความเป็นแม่ ดูแลญาติพี่น้องในฐานะเป็นสมาชิกของครอบครัว นั้นหนักหนาสาหัส ยิ่งในสังคมสมัยใหม่ การต้องออกทำงานนอกบ้าน ในขณะภาระการดูแลครอบครัวไม่ลดลง ส่งผลให้ผู้หญิงเครียดมากขึ้น
นั่นหมายถึงสุขภาพใจ หากพูดถึงสุขภาพกาย ผู้หญิงเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยหลายอย่าง
มากกว่าผู้ชาย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในแต่ละนาทีมีแม่ ๑ คนจากทั่วโลก เสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการตั้งครรภ์ และการคลอด คิดเป็นวันละ ๑,๖๐๐ คน ปีละ ๕๒๙,๐๐๐ คน ร้อยละ๙๙ ของผู้หญิงที่เสียชีวิตอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ความตายเหล่านี้สามารถป้องกันได้ หากผู้หญิงเหล่านี้ได้รับการดูแลให้มีสุขภาพดี และสามารถเข้าถึงการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ส่วนเรื่องอื่นๆ พบว่า ผู้หญิงไทยเผชิญกับการใช้ความรุนแรงของสามีหรือคู่ครองร้อยละ๔๔ โดยร้อยละ๓๐ เป็นความรุนแรงทางเพศ,ผู้หญิงไทยบาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐจากการแท้งบุตรไม่ต่ำกว่าปีละ๔๕,๐๐๐ ราย ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ๓๐ เป็นการทำแท้งเถื่อน
ท่ามกลางภาระที่ต้องแบกรับและความทุกข์กายทุกข์ใจของผู้หญิงนี้ เมื่อมีลูก...ผู้หญิงมีทางเลือกให้เลี้ยงลูกอย่างไร?
- เอาตัวรอดไม่เลี้ยงลูก?
- เลี้ยงลูกด้วยความรัก ความอบอุ่น...เข้มแข็ง เชื่อมั่นศรัทธาในความดีงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เปี่ยมพลัง มีจุดมุ่งหมาย กล้าต่อสู้ เปี่ยมด้วยความหวัง?
- เลี้ยงลูกด้วยความเกลียดชัง ไม่รักลูก...อ่อนแอ เห็นแก่ตัว ก้าวร้าว อารมณ์ร้อนร้าย เลี้ยงด้วยความรุนแรง ขี้แพ้ ขาดความเชื่อมั่นในความดีงาม ไร้จุดมุ่งหมาย สิ้นหวัง ?
แม่ของฉันก็เลี้ยงฉันอย่างไม่รักฉัน!
ตอนฉันเป็นเด็กอายุได้ ๘-๙ขวบ ฉันคิดว่าแม่ไม่รักฉัน แม่เกลียดฉัน เหตุผลเพราะฉันหน้าตาเหมือนพ่อที่สุดในบรรดาลูกสาวสามคน ขณะที่พ่อคือคนที่แม่เกลียดที่สุด
พ่อของฉันเป็นลูกของชายชาวจีนแต้จิ๋ว อพยพมาจากหมู่บ้านเอ่าเกา ตำบลหลังโตว อำเภอเท่งไฮ้ มณฑลกวางตุ้งของเมืองจีน ปู่ของฉันเดินทางมาตั้งถิ่นฐานเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดที่จังหวัดลำพูน ต่อมาแต่งงานกับย่าซึ่งเป็นสาวชาวยองซึ่งอาศัยอยู่ที่เวียงยอง จังหวัดลำพูน อันชาวยองนั้นเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองยอง สิบสองปันนา ในสมัยพญากาวิละ
เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทำสงครามขับไล่พม่า สมัยนั้นพม่าครอบครองเมืองลำพูนมานานกว่าสองทศวรรษ เมื่อขับไล่สำเร็จ ได้เกณฑ์คนเชียงใหม่ คนลำปาง ประมาณหนึ่งพันห้าร้อยคน มาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดลำพูน พร้อมทั้งกวาดต้อนชาวยองจากสิบสองปันนาประมาณหนึ่งหมื่นคนมาอยู่ลำพูน ซึ่งเป็นช่วง เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง (เก็บผักใส่ตะกร้า เก็บข้าแผ่นดินใส่เมือง )
พ่อเป็นลูกคนที่ ๖ ในบรรดาลูกทั้งหมด๙คน ของปู่และย่า แม้เป็นลูกครึ่งจีน-ยอง แต่พ่อเหมือนเป็นคนจีนเต็มตัว เพราะปู่ส่งลูกชายรวมทั้งพ่อจำนวนสี่คนไปเรียนเมืองจีน ผู้ชายสองคนแรกไม่ได้กลับเมืองไทยอีกเลย แต่พ่อกับพี่ชาย กลับมาเมืองไทยเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมที่เมืองจีน พ่อกลับมาเป็นครูสอนภาษาจีนที่เชียงใหม่ พ่อกับพี่ชายพูดภาษาไทยไม่ชัด มักพูดกันด้วยภาษาจีนแต้จิ๋ว
บ้านของพ่ออยู่ตรงข้ามบ้านของตายาย มีถนนเล็กๆที่มีต้นยางยืนเรียงรายกั้น พ่อจึงมักจะยืนที่ระเบียงชั้นสองของบ้านแอบมองดูแม่ ต่อมาพ่อแม่แต่งงานกัน ว่ากันว่าครอบครัวของพ่อไม่ปลื้มแม่ เพราะแม่เป็นคนเมือง ซึ่งสมัยนั้นคนจีนถือว่าขี้เกียจและสกปรก อยากได้สะใภ้คนจีนมากกว่า
เมื่อฉันเป็นเด็ก หากไปกินข้าวบ้านตายาย พ่อจะไปอุ้มกลับบอกว่า กินซี้ซั้วท้องเสียหมด พ่อรังเกียจอาหารพื้นเมืองว่าไม่สะอาด รสจัด ทำให้กระเพาะลำไส้ใม่ดี
ครอบครัวพ่อยึดมั่นขนบธรรมเนียมจีนมาก พ่อบอกให้ฉันภูมิใจว่าฉันเป็นแซ่โค้วรุ่นที่สาม ให้เรียกพ่อและญาติตามธรรมเนียมจีนแต่จิ๋ว เช่นเรียกพ่อว่าอาปา น้องสาวพ่อว่าอาโกว น้องเขยพ่อว่าอาเตี๋ย ฯลฯ พ่อพยายามให้ฉันและพี่น้องพูดภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งยังจำได้หลายคำ เช่นแหมแม่ จั่งเอ็ก ฯลฯ แต่พ่อกับแม่ก็อยู่ด้วยกันได้ไม่นาน เมื่อฉันอายุไม่กี่ขวบ พ่อทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นตบตีกันกับแม่อย่างรุนแรง หลายครั้ง เรื่องเงินทองผู้หญิงและความไม่เข้ากันของวัฒนธรรมชาวจีนและคนเมือง แม่ขอเลิกพ่อ พ่อไม่ยอมเลิก พ่อย้ายไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยที่แม่ยังอยู่เชียงใหม่
ตอนฉันอายุ ๙ ขวบ แม่ก็ฟ้องหย่าพ่อสำเร็จ เมื่อฉันอายุ ๑๔ปี แม่เสียชีวิต ฉันกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่อาศัยอยู่กับตายาย กินอาหารแบบพื้นเมืองที่พ่อสั่งห้ามจนเติบโตเป็นคนขึ้นมา
เมื่อฉันเป็นผู้ใหญ่ ฉันพยายามคิดว่าความรู้สึกว่าแม่เกลียด ไม่รัก เป็นความน้อยใจแบบเด็กๆเท่านั้น แต่ก็ไม่สำเร็จ ฉันยังคิดว่าแม่ไม่ได้รักฉันเลย แม่ไปไหนแม่เอาน้องคนเล็กไปอยู่ด้วย ให้พี่คนโตไปอยู่หอ ส่วนฉันแม่กลับปล่อยให้อยู่กับตายาย นานๆแม่มาเยี่ยมที มาทีไรแม่ก็ต่อว่าฉัน ให้ว่านอนสอนง่าย ขยัน ช่วยงานตายาย แม่ตีฉันเมื่อยายฟ้องแม่ว่าฉันเป็นเด็กดื้อ ว่าอะไรเอาหูทวนลม ขี้เกียจ ไม่เคยช่วยงานฯลฯ
เมื่อฉันเป็นหมอ มีลูกชายสามคน มีสามีและแม่สามีช่วยดูแล มีแม่บ้านช่วยดูแลงานบ้าน มีพี่เลี้ยงคอยดูแลลูก มีผู้ช่วยช่วยงานที่คลินิกฯลฯ...สัมผัสกับชีวิตแม่มากมายหลายคน ซึ่งประดุจได้ดูหนังดูละครโรงใหญ่ ฉันจึงมาสำนึกได้ทีหลังว่า...ภายใต้เงื่อนไขความขาดแคลนเงินทอง ขาดแคลนผู้ช่วยเหลือ ขาดแคลนกระทั่งกำลังใจ ถึงแม่ของฉันจะรักฉันสักเพียงใด แม่...ผู้หญิงตัวคนเดียว เงินเดือนชักหน้าไม่ถึงหลัง เลี้ยงลูกสาวสามคน จะทำอะไรได้ดีไปกว่านี้
ยายสอนฉันให้ปลูกต้นไม้ ทำให้ฉันรักต้นไม้ ชื่นชมทุกพันธุ์ไม้ ตอนฉันกับเพื่อนหลงป่าดอยปุยเมื่อเป็นนักเรียน ฉันมีความสุขกับการชมต้นใหม่ที่สูงใหญ่เสียดฟ้า จนไม่หวาดกลัวกับการหาทางออกจากป่าไม่ได้ เมื่อโตขึ้นฉันเคยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยความปีติยินดี เพื่อชื่นชมความงดงามของใบไม้ผลัดสีที่ประเทศญี่ปุ่นถึงกับพูดคุยกับใบไม้ว่า“พวกเธอรู้ไหมว่า พวกเธอน่ารักเหลือเกิน” เมื่อมีบ้านของตนเองฉันเห็นคุณค่าของต้นไม้ พยายามสร้างร่มเงาต้นไม้ในทุกหนทุกแห่งเท่าที่จะเป็นไปได้
ฉันจึงเขียน “พฤกษามาตา” ขึ้นจากประสบการณ์โดยตรง ที่รักต้นไม้และได้เจอแม่ของลูกจำนวนมากต่อมาก
ด้วยหวังว่า...
แม่ผู้มีชีวิตที่อัศจรรย์สร้างคุณูปการต่อโลก ประดุจต้นไม้เติบโต หยั่งรากลงลึก ยึดผืนดินมั่น ชูลำต้นกิ่งใบ สร้างร่มเงาให้โลกร่มเย็น เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน เป็นแหล่งน้ำ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งทรัพยากร สร้างความอุดมสมบูรณ์ สร้างความสวยงาม สร้างร่มเงาให้ความร่มเย็น แก่ทุกมวลชีวิต...ควรจะได้เป็นตัวอย่างให้ผู้คนเดินรอยตาม หรืออนุโมทนาในความดี ความรัก ความเมตตา ความเสียสละ ที่แม่ได้กระทำต่อลูกและต่อโลกฉันใด
แม่ผู้มีชีวิตหล่นลงไปในเงามืดดำ จาก โลภ โกรธ หลง หรืออื่นใด จากเงื่อนไขชีวิตที่บังคับ เฉกเช่นต้นไม้ที่ไม่อาจเติบโต เปราะบางหักง่าย จนอาจเกิดอันตรายแก่ผู้คนที่อาศัยร่มเงา...ก็ควรได้รับการช่วยเหลือ ทั้งเป็นตัวอย่างที่สอนใจ ไม่ให้แม่คนอื่นๆเดินตามรอยไปฉันนั้น
คำขอบคุณ
“พฤกษามาตา” ไม่อาจสำเร็จได้โดยสมบูรณ์ ถ้าปราศจากชีวิตของแม่จำนวนมากในประสบการณ์ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้มีพลังในการเขียน
ฉันรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณพฤกษามาตาแต่ละคนทั้งที่ได้เล่าให้ท่านฟังในหนังสือเล่มนี้ และทั้งๆที่ไม่ได้ปรากฏในหนังสือเล่มไหน แต่ยังฝังอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม
เรื่องราวในพฤกษามาตานี้ อาจท้าทายความเป็นส่วนตัวของพฤกษามาตาแต่ละคน อย่างไรก็ตามฉันได้ปกปิดชื่อ และตำแหน่งหน้าที่การงานของพฤกษามาตาแต่ละคน ทั้งจงใจปิดบังข้อมูลบางอย่างซึ่งอาจจะทำให้รู้ว่าพฤกษามาตาคนนั้นเป็นใคร เหลือไว้แต่ข้อมูลจริง ประสบการณ์จริง ที่อาจจะเป็นบทเรียนสอนใจ ยกเว้นข้อมูลของพฤกษามาตาที่เป็นมารดาของฉันเอง