ไอ้พลอย
ไอ้พลอย
วรรณกรรมผู้ใหญ่
somkhitsin
นวนิยายแสนรักเรื่องแรกของสมคิด สิงสง เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เรื่องราวย้อนยุคแห่งชุมชนช่องสามหมอ ชีวิตและการต่อสู้ของหนุ่มกำพร้า ผู้กล้าโบยบินตามฝัน
  • 8 ตอน
  • 2,401
นิยายโดย
  • 3 เรื่อง
  • |
  • 2 คนติดตาม
บทนำ

เบื้องลึกการสร้างสรรค์นวนิยายเรื่อง

ไอ้พลอย

จากหน้า “เกี่ยวกับผู้เขียน”

คัดจากฉบับตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2524 โดย สนพ.กอไผ่


ใครที่เคยอ่าน “ลาก่อนนาวังเหล็ก” นวนิยายเรื่องแรกของสมคิด สิงสง ซึ่งตีพิมพ์เมื่อสักสองสามปีก่อนหน้านี้ แล้วจึงมาพลิกอ่าน “ไอ้พลอย” เล่มนี้ ก็จะเห็นว่าเค้าโครงของทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าหากอ่านไปให้จบ และนำไปเปรียบเทียบกันก็จะเห็นว่ามันเป็นคนละเรื่อง

สำหรับ “ลาก่อนนาวังเหล็ก” สมคิดเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในจุลสารองค์กรวรรณกรรม ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๒๔ ว่า ความจริง เขาเพียงแต่อยากทำคำบรรยายทฤษฎีการเมืองโดยผูกเป็นแบบนวนิยายเท่านั้นเอง เพราะเขาเห็นว่าคนบางคนไม่ค่อยชอบอ่านตำราทฤษฎีกันเท่าไหร่นัก

“ทีนี้พอทำออกมาแล้ว ก็เลยเกิดความคิดอยากนำมาดัดแปลงให้เป็นนวนิยายจริงๆ แต่เมื่อทำแล้วก็ปรากฏว่ามันล้มเหลวทั้งสองอย่าง นี่เป็นความรู้สึกของผมนะครับ คือเวลาเอาไปอ่านให้พวกนั้นเขาฟัง ตรงไหนที่มันเป็นชีวิตเขาก็ชอบใจ นั่งฟังตาแป๋ว ยิ่งตอนที่นักมวยขึ้นเวทีมีสาวๆ มาคอยเชียร์ บางคนถึงกับปรบไม้ปรบมือ แต่พอถึงตอนที่พูดถึงทฤษฎีการเมือง เขาก็ง่วงเหงาหาวนอนเหมือนเวลาอ่านสรรนิพนธ์ให้ฟังเหมือนกัน...”

จากคำบอกเล่าของคนเขียน กว่าจะมาเป็น “ไอ้พลอย” เล่มที่อยู่ในมือของท่านขณะนี้ มันผ่านการทำเป็นต้นฉบับมาถึงสามครั้งสามคราด้วยกัน

แรกที่สุดเป็นการบรรยายทฤษฏีการเมือง ที่ผูกเป็นนวนิยายชื่อ ก้าวหน้าไปใต้ร่มธงแดง (๒๕๒๐) ต่อมานำมาดัดแปลงเสียใหม่เป็น ลาก่อนนาวังเหล็ก (๒๕๒๒) โดยตัดบางตอนที่เป็นชีวิตในเขตจรยุทธ ของตัวละครออกเสีย และล่าสุด (ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๒๔) ก็มาเป็น ไอ้พลอย เล่มนี้

“ผมใช้เวลาเขียนราว ๒๐ วัน” สมคิดเล่าเบื้องหลังการทำต้นฉบับเรื่องนี้ครั้งแรก “ตอนนั้นผมรอการเดินทางจากแนวหลังเพื่อจะข้ามแม่น้ำโขงมาภูพาน มันเกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ พลัดพรากจากบ้านที่เคยอยู่อู่ที่เคยนอน ไปพำนักพักพิงอยู่บ้านเมืองของคนอื่นเขา ผมคิดถึงบ้าน (หมายถึงซับแดง) คิดถึงผู้คนที่นั่น และอยากจะเขียนถึงเขาบ้าง จึงใช้เวลานั่งเขียนอย่างหามรุ่งหามค่ำ ๒๐ วัน ๒๐ คืน หมดดินสอดำไปแท่งครึ่งกับสมุดหนาๆเล่มหนึ่ง”

กล่าวสำหรับการทำงานของสมคิด ใครที่ติดตามผลงานของเขามาตั้งแต่ มโหรีแห่งชีวิตอิสระ (๒๕๑๔) ลาก่อนนาวังเหล็ก (๒๕๒๒) ตำนานแห่งหมู่บ้าน (๒๕๒๔) ข้าวเขียว (เขียน ๒๕๒๓ ตีพิมพ์ ๒๕๒๔) และงานที่กระจัดกระจายอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ และนิตยาสารต่างๆ กระทั่งถึง ไอ้พลอย อย่างน้อยก็เห็นว่าเขาไม่เคยหยุดนิ่งเลย ตรงกันข้าม สมคิดก็ไม่ต่างไปจากคนหนุ่มสาวอื่นๆ ที่รักงานด้านนี้เป็นชีวิตจิตใจ แล้วก็อุทิศเวลานับเป็นทศวรรษให้กับมันมาแล้ว พูดในแง่ของคนทำงานศิลปะวรรณกรรม เขาเป็นนักเดินทางคนหนึ่ง และมีชั่วโมงการเดินเหินบนถนนสายนี้มาค่อนข้างยาวนาน

ส่วนในประเด็นที่ว่าผลงานของเขาเป็นอย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่ผู้อ่านจะให้คะแนนเอาเอง เราในฐานะสำนักพิมพ์ไม่อาจตั้งตัวเป็นผู้พิพากษาตัดสินความข้อนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็มีความภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำหน้าที่เผยแพร่งานของนักเขียนไปสู่คนอ่าน อย่างน้อยก็เป็นการสร้างบรรยากาศให้แก่วงการการวรรณกรรมในบ้านเมืองของเรา ไม่ให้หงอยเหงาจนเกินไป

ในด้านชีวิตส่วนตัวของสมคิด สิงสง กาลเวลาอันเนิ่นนานทำให้จำนวนย่างก้าวของเขานับวันมากขึ้น จากคนหนุ่มผู้หงุดหงิดในรั้วมหาวิทยาลัยเมื่อสักสิบปีก่อน เขาได้เดินเหินไปสู่ชีวิตอิสระในช่วงก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาปี ๑๖ จากนั้นก็ไปสู้สภาพไม่อิสระอีกทีในช่วงหลัง ๖ ตุลาปี ๑๙ ปัจจุบันเขาได้กลับคืนสู่ความเป็นชีวิตอิสระอีกครั้งด้วยวัย ๓๒ เต็ม เมีย และลูกชายเล็กๆคนหนึ่ง

ปัจจุบันสมคิดหัน มาจับงานธุรกิจเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมและวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคอีสาน ตามความถนัดและความสามารถเฉพาะตัวของเขา โครงการแรกคือจัดห้องแสดงสินค้าที่สีลม ร่วมกับสีลมวิลเลจ เทรดเซนเตอร์ และยังจะมีโครงการต่อๆไป ตราบเท่าที่ลมหายใจของเขาและเพื่อนมิตรยังไม่สิ้น บอกกล่าวไว้ตรงนี้ก็ได้ว่าใครสนใจงานด้านนี้ อยากพูดคุยกับเขาก็แวะไปได้ วันดีคืนดีอาจพบกับเขาที่เรือน ผึ้งหลวง-บ้านอีสาน ณ บริเวณสีลมวินเลจ เทรดเซ็นเตอร์

สำหรับทางด้านงานเขียน สมคิดบอกตอนนี้เขามีพล็อตเรื่องยาวเรื่องใหม่แล้ว แต่ขอเวลาอีกสองเดือนจึงจะลงมือเขียน ระยะนี้ขอเยียวยาอาการเจ็บไข้ทางเศรษฐกิจสักหน่อยก่อน...ครับ....เราก็ขอตั้งความหวังไว้ว่าเขาคงจะไม่ถึงกับเลิกลาไปจากแวดวง วันดีคืนดีคงมีโอกาสตีพิมพ์งานเขียนของเขาอีกครั้ง…

นั่นเป็นเรื่องราวเบื้องลึกของการรังสรรค์งานนวนิยายเรื่อง “ไอ้พลอย” หนุ่มกำพร้าแห่งชุมชนละแวกบ้านช่องสามหมอในอดีตราวกึ่งศตวรรษ ที่มีการบันทึกและตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2524 ขณะเมื่อสมคิด สิงสง มีอายุ 32 ปี ซึ่งผ่านมาแล้ว 36 ปีในปีนี้ พ.ศ.2561 เมื่ออายุของเขาก้าวเข้าสู่วงปีที่ 68

ช่องสามหมอในอดีต มีสภาพไม่ต่างไปจากชุมโจร โสเภณี ยาเสพติด ฯลฯ บรรดาแต่ละล้วนสิ่งเลวร้าย เมื่อมีถนนลูกรังสีแดงตัดผ่าน และต่อมามันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ซึ่งแยกย่อยมาจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มุ่งตรงมาผ่านจังหวัดชัยภูมิ ผ่านช่องสามหมอ แก้งคร้อ ภูเขียว ชุมแพ ภูกระดึง เมืองเลย จนประชิดฝั่งแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

จากช่องสามหมอ แยกตะวันออกจากทางหลวงหมายเลข 201 ข้ามลำห้วยสามหมอ เป็นทางหลวงหมายเลข 229 ที่เชื่อมโยงท้องที่จังหวัดชัยภูมิกับขอนแก่น ซึ่งผ่านเขตชุมชนบ้านซับแดง บ้านเกิดเมืองนอนของสมคิด สิงสง

กว่าจะมาเป็น “ตลาดต้องชม” ของชุมชนบ้านช่องสามหมอ ที่ซึ่งทางหลวงกลายมาเป็น 4 ช่องทางจราจรและลาดยางอย่างดี และเป็นชุมทางเชื่อมโยงเหนือ - ใต้และตะวันตก - ตะวันออก อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และยังจะพัฒนาต่อไปในยุคสมัยประชาคมอาเชี่ยนที่ไร้พรมแดน “ไอ้พลอย_ลูกกำพร้า” จะเป็นสื่อบอกเล่าเรื่องราวในยุคสมัยที่ผ่านมาแล้ว


@เฮือนดินตีนภู : เสนาสนะสัปปายะ

ต้นทศวรรษที่ 61 แห่งพุทธศตวรรษที่ 25

เกี่ยวกับนักเขียน
3 เรื่อง 2 คนติดตาม
นิยายเรื่องอื่นของsomkhitsin