ถ้อยคำของผู้เขียน (คำนำคราวพิมพ์ครั้งแรก 2549)
“เมื่อกากบัตรโทรศัพท์มือถือกลายเป็นขยะเกลื่อนหมู่บ้าน”
เมื่อเงินล้านก้อนแรกโอนเข้าบัญชีกองทุนหมู่บ้าน เด็กๆ มีรถเครื่องรุ่นใหม่เอี่ยมขับขี่ไปโรงเรียนกันทุกคน
“ไม่มีรถก็ไปโรงเรียนไม่ทัน ถูกครูทำโทษ...”พวกเด็กๆ ออดอ้อน พ่อแม่เมื่อเห็นเงินก้อนโตเข้ามือ
แต่พอมีรถจักรยานยนต์แล้ว หลายคนไปไม่ถึงโรงเรียน ขณะที่ บางคนเลยโรงเรียนไปถึงร้านเกมคอมพิวเตอร์ในตัวอำเภอ
ยิ่งน้ำมันขึ้นราคา แต่กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะวันนี้ไม่มีใคร เดินเท้าอีกแล้ว นอกจากเด็กทารกและคนชรา เสียงรถมอเตอร์ไซค์ดังระงม อย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน หาความสงบไม่ได้
คันไหนเสียงไม่ดังก็ถูกดัดแปลงท่อไอเสียเพื่อสำแดงความดังให้ จงได้
ร้านค้าในหมู่บ้านซื้อน้ำมันมาจากปั๊มในตลาด มารินใส่ขวด 10 บาท 20 บาท 30 บาท รินทั้งวันทั้งคืนจนมือแทบเป็นหวัด
“เอาบัตรเติมเงินให้หน่อย…..”
สุ้มเสียงเด็กๆ ฟังดูเหมือนแสดงอำนาจอยู่ในที
ใช่สิ เพราะเขามีอำนาจซื้อ ความอ่อนน้อมที่เด็กพึงแสดงต่อผู้ใหญ่ เลยจืดจางไป
“บัตรเติมเงินไม่มี มีแต่บัตรเสียเงิน”
ถึงพ่อค้าแห่งหมู่บ้านจะเอ่ยเป็นทำนองเตือนสติลูกหลาน แต่ก็ไม่ เป็นผล กากบัตรโทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นขยะตัวใหม่เกลื่อนหมู่บ้าน อัน นอกเหนือไปจากถุงพลาสติก แกลอนน้ำมันเครื่อง และขวดเครื่องดื่ม ชูกำลัง
เมื่อก่อนขยะของหมู่บ้านคือใบไม้ใบหญ้า มูลวัว มูลควายที่ตัว กุดจี่ชอบกินเป็นอาหาร ต่อมาควายที่เคยกินหญ้าหายไปจากหมู่บ้าน เมื่อ ควายเหล็กที่กินน้ำมันเป็นอาหารเข้าคอกแทน ชาวบ้านเลยไม่มีกุดจี่กิน เหมือนแต่ก่อน
นี่คือสถานการณ์หมู่บ้านยุคสมัยที่เงินคืออำนาจ
กระแสสำนึกทุนนิยมแพร่สะพัดครอบคลุมทุกหย่อมหญ้าและทุก หัวหมาตาคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กนักเรียนในระบบโรงเรียน
วัฒนธรรมบริโภคนิยมไหลบ่ารุนแรง ท่วมท้นคอหอยพ่อแก่แม่เฒ่า
กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น กลายเป็นกระจายคอร์รัปชั่น ไปทั่วถิ่น
แต่ที่ อบต. หนองฮี ที่มีพ่อนายกบุญเติมเป็นผู้บริหาร ยังมีเรื่อง ราวดีๆ ให้เล่าขาน เมื่อท้องถิ่นนี้มีการน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ และถือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ยังมีเด็กๆ บางกลุ่มที่คิดดี ปฏิบัติชอบ ไม่ตกเป็นเหยื่อของ ”วัฒนธรรมขี้ข้าเขา” เดิมตามแบบอย่างที่พ่อนายกบุญเติมพาทำ ตำบล หนองฮีจึงสงบร่มเย็นตามควรแก่อัตภาพ
ผมจดๆ จ้องๆ อยู่กับเรื่องนี้หลายปี ตั้งใจจะให้เป็นวรรณกรรม สำหรับเยาวชน เพื่อสื่อสารความคิดที่ดีงามสู่ลูกหลานในโรงเรียน
ประจบเหมาะกับปีนี้ พวกเราชาวไทยได้ร่วมกันเฉลิมฉลองการ ครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ผมจึงขอมีส่วนร่วมการฉลองนี้ด้วยงานเขียนเรื่องนี้
สมคิด สิงสง
มิถุนายน 2549